วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

มะเร็งลำไส้ใหญ่


มะเร็งลำไส้ใหญ่





ถือเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด โดยจากสถิติทั่วโลกพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ชายเป็นลำดับที่ 4 หรือ 600,000 คนต่อปี ส่วนในผู้หญิงพบเป็นลำดับที่ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก และพบกว่า 500,000 คนต่อปี ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่นับเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับที่ 4 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด รองมาจากมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร



สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีความสัมพันธ์กับอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูง


ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และพบว่าในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนปรกติประมาณ 1.2 เท่าสำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ คือ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และการสูบบุหรี่

อาการ

อาการ ที่พบในระยะแรกคือมีมูกเลือดปะปนมากับอุจจาระ โดยจะสังเกตได้ว่าอุจจาระมีสีคล้ำ คล้ายสีของเลือดหมู  หรือมีลักษณะการถ่ายอุจจาระที่ผิดปรกติออกไป เช่นปรกติไม่เคยท้องผูก ก็ท้องผูก หรือมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย  นอกจากนั้นอาจสังเกตได้จากขนาดของเส้นอุจจาระที่ลดลงผิดปรกติ  หรือมีอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด  

สำหรับในระยะที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง  อาเจียน อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลงผิดปรกติ



การแบ่งระยะของโรค

หลังจากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์จะแบ่งระยะของโรคโดยแบ่งตามการแพร่กระจายของโรคดังนี้


  1. Stage 0 คุณเป็นคนที่โชคดีเป็นโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น มะเร็งอยู่เฉพาะผิวของลำไส้
  2. Stage 1 มะเร็งอยู่เฉพาะผนังลำไส้ ยังไม่แพร่ออกนอกลำไส้
  3. Stage 2 มะเร็งแพร่ออกนอกลำไส้แต่ยังแพร่ไม่ถึงต่อมน้ำเหลือง
  4. Stage 3 มะเร็งแพร่ไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่ไปยังอวัยวะอื่น
  5. Stage 4 มะเร็งแพร่ไปอวัยวะอื่นโดยมากไปยังตับและปอด
  6. Recurrent เป็นมะเร็งซ้ำหลังจาการรักษา


การวินิจฉัย

เมื่อแพทย์ทราบอาการของผู้ป่วยและสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แพทย์จะซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจพิเศษเพิ่มเติมดังนี้

  • ใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสวมถุงมือและทาครีมหล่อลื่นแล้วตรวจเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่
  • ตรวจหาเลือดในอุจาระ โดยให้งดเนื้อสัตว์และเลือดรวมทั้งวิตามินบำรุงเลือด3 วันแล้วนำอุจาระตรวจหากผลตรวจให้ผลบวกแสดงว่ามีเลือดทางเดินอาหาร
  • การส่องกล้องมีทั้งการส่อง sigmoidoscope คือส่องดูแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และ colonoscopy ส่องดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
  • การสวนสี barium enema โดยการสวนสารทึบรังสีเข้าในลำไส้ใหญ่แล้ว x-ray ดูลำไส้ใหญ่
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ biopsy อาจจะตัดชิ้นเนื้อขณะส่องกล้อง หรือตรวจหลังจากทราบผล x-ray

วิธีการรักษา


วิธีการรักษาหลักในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วงแรก (colon) ในระยะที่ 1 , 2 และ 3 คือการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยในระยะที่ 2 บางรายและระยะที่ 3 จะได้รับวิธีการรักษาเสริมโดยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย โดยปัจจุบันพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถป้องกันการกลับมาของโรคได้ดีขึ้น


สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (rectum) นอกจากการผ่าตัดและการรักษาเสริมโดยการให้ยาเคมีบำบัดแล้วจะมีการใช้รังสีรักษาร่วมด้วย ส่วนผู้ป่วยในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่โรคแพร่กระจายและคนส่วนใหญ่คิดว่าไม่สามารถรักษาได้แล้ว ความเชื่อนั้นไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะหากผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงพอ แพทย์ก็สามารถที่จะให้การรักษาได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการทุเลาลงหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น